วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร วัดแห่งชัยชนะ @ ถนนข้าวสาร

~วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร~

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร  (wat chanasongkhram ratchaworamahawiharn) เป็นวัดดังถนนข้าวสาร  ใครมีอุปสรรค มักมาขอพร ให้รอดพ้นภัย ชนะปัญหาต่างๆ ซึ่งวัดชนะสงครามนี้ เปรียบเสมือน วัดแห่งชัยชนะ

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อยู่ถนนจักรพงษ์ ใกล้ถนนข้าวสาร บางลำพู แขวงชนะสงคราม เป็นวัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดกลางนา” เนื่องจากมีทุ่งนาล้อมรอบ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทรงย้ายราชธานีจากฝั่งกรุงธนบุรีมาฝั่งพระนคร และทรงสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น ในช่วงนั้นยังมีศึกสงครามอยู่ พระองค์โปรดฯ ให้สมเด็จ  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นแม่ทัพสำคัญ รวบรวมชาวมอญมาเป็น กองกำลังในการรบกับข้าศึก ให้ชาวมอญตั้งถิ่นฐานใกล้บริเวณวัดกลางนา และให้พระสงฆ์มอญมาอยู่จำพรรษาที่วัดนี้ ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้เป็นภาษามอญว่า “วัดตองปุ” โดยได้ลอกเลียนนามวัดและขนบธรรมเนียบของวัดในกรุงศรีอยุธยาและลพบุรี ซึ่งเป็นวัดที่พระสงฆ์รามัญจำพรราาอยู่มาใช้ 

ต่อมา รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้ วัดตองปุ เป็นวัดของสงฆ์ฝ่ายรามัญ เพื่อเป็นการตอบแทนคุณงามความดีแก่ทหารรามัญในกองทัพ ที่เป็นกำลังสำคัญในการรบกับพม่า หลังจากบ้านเมืองสงบสุขไม่มีศึกกับพม่าแล้ว ทรงสถาปณาวัดใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง แล้วน้อมเกล้า​ฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง ต่อมารัชการที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ตามเหตุการณ์ ซึ่งทำการรบเอาชนะพม่าได้ถึง 3 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. 2328-2330 ว่า “วัดชนะสงคราม”

~พระอุโบสถ วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร~
 
พระอุโบสถ วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร ก่ออิฐถือปูนเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็น 13 ห้องเสา ไม่มีพาไล ฐานพระอุโบสถเป็นฐานบัวลูกแก้ว หลังคาทำเป็นชั้นลด 3 ชั้น มุงกระเบี้องเคลือบสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเจาะเป็นช่องหน้าต่าง บานหน้าต่างเป็นลายเทพพนมเหนือบานหน้าต่างเป็นลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ลวดลายพื้นหน้าบันแตกต่างกันคือ หน้าบันด้านหน้าลายพื้นเป็นลายเทพพนม ส่วนหน้าบันด้านหลังลายพื้นเป็นลายก้านแย่งใบเทศ ประดับกระจกสีปิดทอง ซุ้มประตู หน้าต่างซ้อนสองชั้น เป็นลายก้านขดปูนปั้นบานหน้าต่างด้านในเป็นภาพเขียนทวารบาล บานประตูด้านนอกเป็นไม้แกะสลักปิดทองลายก้านแย่ง บานหน้าต่างด้านนอกลงรักสีดำ ไม่มีลวดลาย ด้านหลังพระอุโบสถข้างหลังพระประธานเป็นเฉลียงกั้นห้องทำเป็นคูหาที่บรรจุอัฐิเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล เจาะเป็นช่อง ๆ มีคันทวยรองรับชายคา โดยรอบพระอุโบสถเป็นลวดลายเถาวัลย์พันตลอดคันทวย ใบเสมาพระอุโบสถจะติดที่ผนังตรงมุมด้านนอกทั้ง 4 มุม และผนังด้านใน นอกจากใบเสมาติดผนังแล้วยังมีใบเสมาตั้งบนแท่นอีก 1 แห่ง หลังพระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ใบเสมานี้เป็นใบคอดตรงเอว มีลายที่กลางอก 4 ใบ ตั้งบนฐานแก้วรองรับด้วยฐานบัวอีกชั้นหนึ่ง
~พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ ~
 
พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ หรือเรียกกันว่า หลวงพ่อปู่ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร เป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตัก 2.5 เมตร สูง 3.5 เมตร ภายในองค์พระมีฉลองพระองค์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูป 16 องค์อยู่รายล้อมพระประธาน อันหมายถึง พุทธคุณชนะศัตรู 7  พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ วัดชนะสงคราม เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร พระพุทธธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ เป็นพระพุทธรูป สมัยรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย วัสดุปูนปั้นบุดีบุก ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตัก 2.5 เมตร สูง 3.5 เมตร
 
โดยรอบๆ พระประธานยังมีพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัยอีก 15 องค์ ซึ่งสันนิษฐานกันว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิง หนาทจะทรงนำแบบอย่างมาจากวัดชุมพลนิกายรามที่ บางปะอิน ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้า 16 พระองค์ ที่ปรากฏนามอยู่ในบทสวดมนต์ อาฎานา ฏิยปริตร พระพุทธเจ้า 16 พระองค์นี้ ตามคติโบราณนับถือกันว่า ทรงพระพุทธคุณในการประสิทธิ์ประสาทชัยชนะเหนือศัตรู 
~รอยพระพุทธบาทจำลอง อยู่ด้านหลังพระอุโบสถวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ~
~ศาลา พระรูปหล่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หน้าวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ~

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร  สามารถเดินทางไปทำบุญ ถวายสังฆทานได้ทุกวัน ภายในพระอุโบสถ 
 
 
ข้อมูลการติดต่อ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร 
ที่อยู่ : ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เบอร์โทร : 02-281- 9396
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08.00 – 16.00
 
แผนที่
 

Leave a Reply

Your email address will not be published.