วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร วัดใจกลางมหานคร

~วัดปทุมวนาราม~

วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร (Wat Pathum Wanaram) วัดกลางเมืองบนดินแดนสงบและงดงามท่ามกลางป่าคอนกรีต ตั้งอยู่ระหว่างศูนย์การค้าสยามพารากอนและห้างเซ็ลทรัลเวิร์ด เป็นวัดที่ยังคงความสงบ น่าเข้าไปสัมผัสยิ่งนัก

~พระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม~

ประวัติวัด
วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร วัดสถาปนาขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2400 บริเวณด้านทิศตะวันตกของสระนอกเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมเหสี และพระราชทานนามวัดว่า “วัดปทุมวนาราม” แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า “วัดสระปทุม

~พระสายน์ หรือ พระไส ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม~

พระสายน์” หรือ พระไส ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถของวัดปทุมวนาราม ก็เป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง ในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน โดยพระแสนและพระสายน์นั้นต่างก็มีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน ตรงที่เมื่อใดเกิดฝนแล้ง ก็จะอัญเชิญท่านออกมาบูชากลางแจ้งและบูชาขอฝนจากท่าน ฝนก็จะตกลงมาได้

จิตกรรมภายในพระอุโบสถ  จะถูกวาดเป็นรูปสระดอกบัว เหมือนดั่งที่ชาวบ้านต่างเรียกชื่อวันปทุมวราราม ว่า “วัดสระปทุม”

~พระเจดีย์ วัดปทุมวนาราม~

พระเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระราชสรีรางคาร และพระอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ในราชสกุลมหิดลหลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร,  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

untitled-07246-2
~พระเสริม และพระแสน ในพระวิหาร วัดปทุมวนาราม~
~พระวิหาร~

พระวิหาร แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระเสริม และพระแสน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ แบบศิลปะล้านช้างเวียงจันทน์  “พระเสริม” นั้นเป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับ “พระสุก” และ “พระใส” ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 กองทัพสยามเดินทางไปตีเมืองเวียงจันทน์เพื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อกองทัพจะเดินทางกลับบ้านเมือง ก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเวียงจันทน์มาด้วยหลายองค์ด้วยกัน รวมทั้ง พระสุก พระใส และพระเสริม

แต่ในขณะที่เคลื่อนย้ายพระพุทธรูปมาทางลำน้ำงึมออกแม่น้ำโขง ก็ได้เกิดพายุฝนตกหนัก จนทำให้พระสุกหล่นจากแท่นประดิษฐานจมลงใต้แม่น้ำ บริเวณนั้นต่อมาจึงเรียกกันว่าเวินพระสุก หรือเวินสุก ส่วนพระเสริมและพระใสก็ได้อัญเชิญข้ามมายังฝั่งไทยได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อจะอัญเชิญต่อมายังกรุงเทพฯ ก็ปรากฏว่าเกวียนที่ประดิษฐานพระใสนั้นเกิดหักลงอยู่ตรงหน้าวัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย ทำอย่างไรก็ไปต่อไม่ได้ จึงต้องอัญเชิญพระใสให้ประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองหนองคายมาแต่บัดนั้น ส่วนพระเสริมนั้นอัญเชิญต่อมาได้จนถึงกรุงเทพฯ และมาประดิษฐานไว้ที่วัดปทุมวนารามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ส่วน “พระแสน” พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซึ่งประดิษฐานอยู่ในอุโบสถเดียวกันกับพระเสริม เดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำที่เมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง แต่ได้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณจากล้านช้างมาประดิษฐานไว้ในพระอารามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่หลายแห่ง

~จิตกรรมภายในวิหาร~

นอกจากนี้ วัดปทุมวนารามยังมีส่วนที่ใช้ในการปฏิบัติธรรมเรียกว่า สวนป่าพระราชศรัทธา”  บรรยากาศร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด พอได้เข้าไปสัมผัส สวนป่าพระราชศรัทธา แล้วทำให้จิตใจสงบร่มเย็น เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก  วัดปทุมวนารามใจกลางเมืองแห่งนี้นับว่า “เป็นดินแดนสงบ อันงดงาม ท่ามกลางป่าคอนกรีต”

~สวนป่าพระราชศรัทธา วัดปทุมวนาราม~

ข้อมูลวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร

ที่ตั้ง : 969 ถนนพระราม1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

เวลาทำการ : 8.00 -17.00 น.

เบอร์โทร : 02-256-6469, 02-251-6478

facebook : pathumwanaram

รายละเอียดสถานที่ปฏิบัติธรรม “สวนป่าพระราชศรัทธา วัดปทุมวนาราม

ภาพโดย : insidewatthai

แผนที่

 

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) – วัดน่าเที่ยว @กรุงเทพมหานคร

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) ตั้งอยู่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร  เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีความงดงามมาก มีพระเจดีย์สีทองอร่ามตั้งสูงเด่นสง่าอยู่ท่ามกลางใจกลางมหานคร

วัดสระเกศ (Wat Sraket Rajavaravihara)   เป็นวัดโบราญในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชการที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งวัดแห่งนี้มีความสำคัญเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเกี่ยวข้องกับพระบรมราชจักรีวงศ์เรื่อยมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 1  ปัจจุบันวัดสระเกศเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร

~พระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) ~

พระบรมบรรพต เจดีย์ภูเขาทองนี้ มีประวัติความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ เป็นพุทธสถานที่สำคัญของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เพราะสร้างโดยพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีถึง 3 พระองค์ด้วยกัน คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามลำดับ ใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลาประมาณ 5 ทศวรรษ ปัจจุบันมีอายุร่วม 200 กว่าปี บนยอดมีเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามประดิษฐานอยู่ ได้จำลองแบบมาจากพระเจดีย์ของวัดภูเขาทองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

~พระบรมสารีริกธาตุ ภายในพระบรมบรรพต  วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)~

พระบรมบรรพต เจดีย์ภูเขาทองนี้มีความสูงประมาณ 100 เมตร มีความกว้างโดยรอบเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่บูชาไว้ในพระบรมมหาราชวังประดิษฐานในพระเจดีย์ภูเขาทองเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ครั้งที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญจากเมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย ครั้งที่ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์ยอดพระมณฑปเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2497

~บรรยากาศบนพระบรมบรรพตวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)~

ในส่วนของพระอาราม วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ๆ เช่น พระอุโบสถซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนในสมัย รัชกาลที่ 3 แต่ชำรุดจึงมีการลบเขียนใหม่ใน รัชกาลที่ 7 เป็นภาพทศชาติ ภาพมารผจญและภาพไตรภูมิ รอบพระอุโบสถมีซุ้มเสมาตั้งประจำทั้ง 8 ทิศ ซุ้มเสมาที่วัดสระเกศเป็นทรงกูบช้างหรือซุ้มหน้านางประดับกระเบื้องงดงามถือเป็นแบบอย่างทางศิลปะ

~พระวิหารพระอัฏฐารสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) ~

พระวิหารพระอัฏฐารส หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันทั้งสองด้านประดับด้วยกระจกสี เป็นทีประดิษฐานพระพุทธรูปสำคับ 2 องค์ คือ พระอัฏฐารส และหลวงพ่อดุสิต นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยสูตร เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำหรับแจกจ่ายให้ประชาชน

~พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)~

พระอัฏฐารส มีพระนามเต็มว่า พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุ 700 ปี เป็นประพุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุด ในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง 5 วา 1 ศอก 10 นิ้ว (21 ศอก 1 นิ้ว) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ ประดิษฐานอยู่บนชุกชีในพระวิหาร

ธรรมดาเมืองหลวงแต่ก่อนย่อมมีพระอัฏฐารสเป็นประจำราชธานี เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากสงคราม ป้องกันความแตกแยกของคนในชาติ ให้คนในชาติเกิดความรักความสามัคคี และให้ประเทศชาติสถิตสถาพรมั่นคงยั่งยืนนาน ประหนึ่งพระพุทธปฏิมากรประทับยืนสถิตสถาพรเป็นนิรันดร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้อัญเชิญพระอัฏฐารส มาจากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก มาประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) แห่งนี้

~หลวงพ่อดุสิต ภายใน วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) ~

หลวงพ่อดุสิต   เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธศิลป์สกุลช่างรัตนโกสินทร์ มีประวัติว่า เดิมเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถวัดดุสิตมาก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังดุสิต และสวนดุสิตจำต้องขยายบริเวณเกินเนื้อที่วัดเบญจมบพิตรและวัดดุสิต จึงโปรดให้อัญเชิญพระประธานในพระอุโบสถวัดดุสิตไปประดิษฐานอยู่ในห้องด้านหลังพระวิหารพระอัฏฐารสซึ่งว่างอยู่ ภายหลังเรียกกันว่า “หลวงพ่อดุสิต” ประดิษฐานอยู่ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) แห่งนี้จนทุกวันนี้

กิจกรรมงานบุญประจำปีของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)

พิธีเจริญพระพุทธมนต์ “มหาสมัยสูตร” วันที่ 15 เมษายน ของทุกปี เวลา 17.00 น.
พิธีตักบาตเทโวโรหณะ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เวลา 6.00 น.
พิธีอัญเชิญผ้าแดงห่มองค์พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 เวลา 6.00 น.
งานประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกฐาตุประจำปี ระหว่างวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ถึง แรม 2 ค่ำ เดือน 12 (ช่วงงานเทศกาลลอยกระทง 7 วัน 7 คืน) เวลา 6.00 – 24.00 น. ถือเป็นงานวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกรุงเทพฯ และทางวัดจะเปิดให้ประชาชนขึ้นไปกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุในตอนกลางคืนเป็น ช่วงเวลาพิเศษ

~สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)~

ข้อมูล วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดภูเขาทอง

เปิด 7.30 – 19.00 น.

คนไทยเข้าฟรี ต่างชาติ 50 บาท/คน

เบอร์โทร : 02 621 2280

facebook : watsraket

ภาพโดย : insidewatthai

แผนที่